![]() |
|
เมื่อวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) เพื่อฝึกอบรมการใช้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสืบค้น โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS) ประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับบริษัท บุ๊คเน็ท จำกัด การฝึกอบรมนี้ผู้เขียนได้ฝึกปฏิบัติจำนวน 8 ฐานข้อมูล ได้แก่
โดยมีคุณจิรวัฒน์ พรหมพร แผนกสนับสนุนฝ่ายทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ทางการศึกษา บริษัท บุ๊ค โปรโมชั่น แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เป็นวิทยากร นอกจากผู้เขียนจะได้รับความรู้ในเรื่องของเทคนิคต่าง ๆ ในการสืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์แล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การเลือกวารสารนานาชาติเพื่อการตีพิมพ์ และดัชนีชี้วัดคุณภาพวารสารเพื่อการตีพิมพ์อีกด้วย เนื่องจากฐานข้อมูลมีจำนวนมาก การสืบค้นข้อมูลของแต่ละฐานก็จะมีความแตกต่างกันไป แต่หากผู้ใช้งานมีความรู้และเทคนิคในการสืบค้นข้อมูลก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสืบค้นฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้ ในที่นี้ผู้เขียนจะขอเลือกใช้งานฐานข้อมูล Web of Science มาเป็นตัวอย่างในการสืบค้นข้อมูล โดยจะแสดงวิธีการใช้ฐานข้อมูล และเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการสืบค้นข้อมูล ดังหัวข้อต่อไปนี้
Web of Science คืออะไร ? (https://webofknowledge.com) Web of Science Core Collection คือ แพลตฟอร์มในการสืบค้นข้อมูลจาก วารสารวิชาการนานาชาติชั้นนำ (Journals) การประชุมวิชาการ (conference proceeding) และ หนังสือ (Books) รวมกันมากกว่า 5 ล้านรายการ ซึ่งช่วยนักวิจัยในการค้นหางานวิจัยคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับขอบเขตการศึกษาที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สิทธิการเข้าถึงข้อมูลการสืบค้นขึ้นอยู่กับชนิดข้อมูลสิ่งพิมพ์ที่ทางสถาบันแต่ละแห่งบอกรับสมาชิก เป็นฐานข้อมูลบรรณานุกรมและสาระสังเขปพร้อมการอ้างอิงและอ้างถึง ที่ครอบคลุมเนื้อหา 3 กลุ่มสาขาวิชาหลัก ได้แก่ กลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มสังคมศาสตร์ และ กลุ่มมนุษยศาสตร์ จากวารสารมากกว่า 10,000 รายชื่อ ให้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2001 – ปัจจุบัน ดาวน์โหลดเอกสารเพื่อใช้ประกอบการอ่าน : หัวข้อ 1.วิธีการสืบค้นบทความวิจัยเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงในการทำวิจัย >>>ดาวน์โหลด หัวข้อ 2.ค้นหาวารสารนานาชาติตามคีย์เวิร์ด เพื่อการตีพิมพ์ หรือ เป็นวารสารประกอบการเรียนการสอน >>>ดาวน์โหลด หัวข้อ 3.ค้นหา Impact Factor หรือ Ranking ของวารสาร หรือตรวจรายชื่อวารสารนานาชาติ เพื่อประเมินคุณภาพวารสาร >>>ดาวน์โหลด หัวข้อ 4.ค้นหาผลงานของผู้เขียน สิทธิบัตร หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ที่บทความวารสารใน Web of Science นำไปอ้างอิง >>>ดาวน์โหลด 1.วิธีการสืบค้นบทความวิจัยเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงในการทำวิจัย ค้นหาบทความวิจัย โดยใช้เทคนิคการสืบค้นข้อมูล ดังนี้
การสร้าง Search Statement อันดับแรกผู้ใช้งานต้องทราบก่อนว่าตนเองนั้นต้องการศึกษาหรือสนใจข้อมูลอะไร มีกรอบแนวคิดอย่างไร หรือหัวข้อที่จะศึกษานั้นคือเรื่องอะไร เมื่อทราบสิ่งที่ต้องการศึกษาแล้ว ให้นำมากำหนดคีย์เวิร์ด หรือคำที่จะใช้ในการสืบค้น ประมาณ 1 – 3 คำ โดยคีย์เวิร์ดที่จะใช้ต้องสามารถสื่อและอธิบายความหมายครอบคลุมถึงกรอบแนวคิดของหัวข้อที่จะสืบค้นข้อมูลได้ ทั้งนี้ สามารถใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน (Synonyms) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบค้นให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
การใช้คำเชื่อม (Operations) และการเชื่อมคำค้น (Combining Terms) วิธีการสืบค้น (Search Methods) ( Slide : 10 ) วิธีการสืบค้นสามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ใช้งานจะคุ้นเคยกับการสืบค้นแบบ Basic Search ที่สามารถสืบค้นบทความวารสารจากชนิดข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ Topic (ข้อมูลบรรณานุกรมและบทคัดย่อ) Author (ชื่อผู้แต่ง) Publication Year (ปีที่พิมพ์) และ Address (ที่อยู่ชื่อหน่วยงานที่ผู้แต่งสังกัด) เป็นต้น เพื่อใช้ในการประเมินปริมาณของข้อมูลหรือบทความที่พบในฐานข้อมูลและมีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่สืบค้น (Slide : 11 – 13) การสืบค้นแบบ Advanced Search ที่สามารถเลือกกำหนดเขตข้อมูลได้ สร้างเงื่อนไขที่ซับซ้อนได้ดี ปริมาณในการสืบค้นข้อมูลจะได้ผลการสืบค้นที่แคบกว่าการสืบค้นแบบ Basic search การสืบค้นแบบ Author Search เป็นการค้นหาผลงานทั้งหมดของผู้เขียนที่สังกัดในหน่วยงานต่าง ๆ (Slide : 23 – 26) การสืบค้นแบบ Cited Reference Search เป็นการค้นหาข้อมูลที่บทความนำมาอ้างอิง ซึ่งอาจเป็นบทความหนังสือ หรือ สิทธิบัตร เป็นต้น หรือต้องการค้นหาว่ามีใครนำผลงานนี้ไปอ้างอิงในบทความ (Slide : 21 – 22) แต่มีอีกหนึ่งวิธีที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้ผู้ใช้งานได้ลองใช้ในการสืบค้น นั่นคือ การสืบค้นแบบ Thesaurus วิธีนี้มีให้สืบค้นในบางฐานข้อมูลเท่านั้น เช่น ฐานข้อมูล ABI/Inform Collection ที่ซ่อนอยู่ในการสืบค้นแบบ Advanced search เป็นต้น ตามที่ผู้เขียนเข้าใจคือ การสืบค้นคำที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ชุดเดียวกัน เนื้อหาคล้าย ๆ กัน มารวมเข้าไว้ด้วยกันเป็นชุดคำศัพท์ แล้วนำมาจัดทำเป็นหัวเรื่องเรียงตามลำดับโครงสร้างในหัวเรื่องนั้น ๆ เพื่อจำกัดการสืบค้นเฉพาะหัวเรื่องที่ผู้ใช้งานต้องการสืบค้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานในการเลือกใช้เครื่องมือสืบค้นให้เหมาะสมกับหัวข้อที่ต้องการ การคัดกรองผลการสืบค้น (Refining your search result) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบทความที่ได้สืบค้นมานั้น ตรงกับความต้องการหรือตรงกับหัวข้อที่เราจะศึกษาหรือไม่ เนื่องจากบทความในฐานข้อมูลมีเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น บางเรื่องก็มีเป็นแสนบทความ ก็ต้องทำการคัดกรองผลการสืบค้นให้แคบลง โดยเพิ่มคีย์เวิร์ด เลือกหัวข้อที่ต้องการ มีการกำหนดปีที่พิมพ์ เช่น ผู้ใช้งานอยากได้บทความย้อนหลังไป 10 ปี ก็สามารถกำหนดปีที่พิมพ์ได้ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกประเภทสิ่งพิมพ์ที่ต้องการได้อีกด้วย (Slide : 11 – 13) การวิเคราะห์ผลการสืบค้น (Analyze results) การวิเคราะห์ผลการสืบค้น ผู้ใช้งานสามารถเลือกจัดเรียงผลการสืบค้นได้ ว่าจะให้จัดเรียงผลการสืบค้นเป็นแบบใด จัดเรียงตามชื่อ ผู้แต่ง (Author) ประเภทเอกสาร (Document Type) ชื่อสถาบัน (Institution) ชื่อผู้แต่งที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงาน (Group Authors) ชื่อสิ่งพิมพ์ (Source Title) หรือจัดเรียงตามปีที่พิมพ์ (Publication) เป็นต้น (Slide : 14 – 18) การจัดการผลการสืบค้น (Manage your results) การจัดการผลการสืบค้นนี้ เมื่อผู้ใช้งานได้บทความที่ต้องการเรียบร้อยแล้วนั้นสามารถทำข้อมูลบรรณานุกรม (Bibliographic information) และดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม (Full Text) ได้ ด้วยการสั่งพิมพ์ (Printing) การบันทึกข้อมูล (Saving) อีเมล (Email) และการนำข้อมูลบรรณานุกรมออก (Exporting citation) เพื่อนำไปใช้กับโปรแกรม EndNote หรือ Text file ได้ (Slide : 27 – 30) สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อนี้ได้โดยดาวน์โหลดเอกสารตาม Link >>>ดาวน์โหลด |
|
2.ค้นหาวารสารนานาชาติตามคีย์เวิร์ด เพื่อการตีพิมพ์ หรือ เป็นวารสารประกอบการเรียนการสอน
การที่เราจะทำการค้นหาวารสารนานาชาติเพื่อการตีพิมพ์ หรือเป็นวารสารประกอบการเรียนการสอนนั้น ผู้เขียนคิดว่าเราควรจะมีกลยุทธ์ที่ดีในการเลือกวารสารเสียก่อน เพื่อให้ได้วารสารที่มีคุณภาพ โดยพิจารณาขอบเขตเนื้อหาของวารสารให้ตรงกับความสนใจของผู้อ่าน มีการกำหนดเป้าหมายถึงกลุ่มผู้อ่านหรือผู้ใช้วารสารระดับนานาชาติ เลือกวารสารที่มุ่งเน้นขอบเขตเนื้อหาแนวกว้างเป็นสากล หากกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะสาขา ก็ให้เลือกวารสารที่มุ่งเน้นขอบเขตเนื้อหาเฉพาะทางสาขา การประเมินคุณภาพวารสารจาก Impact และ Ranking ของวารสารก็เป็นกลยุทธ์หนึ่ง ที่ใช้เป็นค่าบ่งชี้เรื่องคุณภาพของวารสารนั้น ๆ รวมทั้งการตรวจสอบสถานะการมีอยู่ของวารสาร (Index) และระยะเวลาที่ Index อยู่ในฐานข้อมูลวารสารอ้างอิงที่สำคัญ (Citation Databases) เป็นที่ยอมรับกันในวงการศึกษาวิจัย นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับวารสาร, สถานะวารสารประเภท Peer Review, ระยะเวลาของกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review process), ชื่อเสียงของสำนักพิมพ์ วารสาร บรรณาธิการ และบอร์ดบรรณาธิการ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อนี้ได้โดยดาวน์โหลดเอกสารตาม Link >>>ดาวน์โหลด |
|
3.ค้นหา Impact Factor หรือ Ranking ของวารสาร หรือตรวจรายชื่อวารสารนานาชาติ เพื่อประเมินคุณภาพวารสาร
webofknowledgr.com (ใช้เฉพาะภายในเครือข่าย internet ของมหาวิทยาลัยฯ หรือ ผู้ใช้สามารถลงทะเบียนบัญชีผู้ใช้เพื่อเข้าใช้ JCR นอกเครือข่าย internet ของมหาวิทยาลัย) ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Clarivate Analytics ค่าที่ใช้ในการประเมินคือ Journal Impact Factor คือค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิงต่อบทความจากวารสารที่ตีพิมพ์ในสองปีล่าสุด เช่น วารสาร A มีค่า Impact Factor เท่ากับ 2.5 หมายความว่า วารสาร A ได้รับการอ้างอิงเฉลี่ย 2.5 ครั้งต่อบทความ (ไม่นิยมใช้เพื่อเปรียบเทียบวารสารที่ต่างสาขากัน) JIF Quartile ใช้เพื่อการประเมินคุณภาพและจัดอันดับวารสารที่มีค่า Impact Factor ของวารสารในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน ค่า Q หมายถึง Quartile score ของวารสารในแต่ละสาขาวิชา (subject categories) (นิยมใช้เพื่อเปรียบเทียบวารสารที่ต่างสาขากัน) Q1 = top position (highest 25% of data) เป็นกลุ่มวารสารที่ดีที่สุดในสาขานี้ Q2 = middle-high position (อยู่ระหว่าง top 50% และ top 25%) Q3 = middle-low position (อยู่ระหว่าง top 75% และ top 50%) Q4 = bottom position (bottom 25%) ตัวอย่าง แสดงค่า Impact Factor และ Quartile ในหน้าการแสดงผลลัพธ์ จากการสืบค้นข้อมูล h-index ค่าที่แสดงความนิยมของบทความที่ได้รับการอ้างอิงในวารสาร ตัวอย่างคือ ต้องการทราบค่า h-index ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถค้นหาได้ ดังนี้ 1.ไปที่หน้า Basic Search เลือกรูปแบบการสืบค้น เป็น Organization-Enhanced 2.คลิก Select from Index 3. พิมพ์ข้อมูลมหาวิทยาลัย หากไม่ทราบตัวสะกด สามารถพิมพ์เป็นตัวย่อได้ จากนั้นคลิก Find 4. หาชื่อมหาวิทยาลัย แล้วคลิก Add จากนั้นคลิก OK 5. เลือกคณะที่ต้องการค้นหาจาก Web of Science Categories จากนั้นคลิก Refind 6.จำนวนข้อมูลของการสืบค้นที่ได้จะปรากฎอยู่ทางด้านมุมซ้ายมือ จากนั้นคลิก Create Citation Report เพื่อดูค่า h-index ของคณะ 7.แสดงค่า h-index ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีค่า h-index = 64 หมายความว่าคณะมีการตีพิมพ์บทความรวมทั้งสิ้น 1,799 บทความ ซึ่งมีอย่างน้อย 64 บทความขึ้นไปที่บทความเหล่านั้นได้รับการอ้างอิงไม่น้อยกว่า 64 ครั้งขึ้นไป แสดงให้เห็นว่า ปริมาณบทความที่วารสารตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมากต่อปี ไม่ได้หมายความว่าวารสารนั้นมีคุณภาพดีกว่าวารสารที่ตีพิมพ์น้อยกว่า สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อนี้ได้โดยดาวน์โหลดเอกสารตาม Link >>>ดาวน์โหลด |
|
4.ค้นหาผลงานของผู้เขียน สิทธิบัตร หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ที่บทความวารสารใน Web of Science นำไปอ้างอิง
การค้นหาผลงานของผู้เขียน สิทธิบัตร หนังสือ หรือสิ่งพิมพ์ที่บทความวารสารใน Web of Science นำไปอ้างอิง ใช้การสืบค้นแบบ Author Search เพื่อค้นหาผลงานทั้งหมดของผู้แต่งที่สังกัดในหน่วยงานต่าง ๆ (Slide : 21 – 26) สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อนี้ได้โดยดาวน์โหลดเอกสารตาม Link >>>ดาวน์โหลด |
|
หากมีข้อผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องประการใด ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ เนื่องจากเป็นการเขียนบล็อกครั้งแรกในชีวิตของผู้เขียน ยินดีน้อมรับคำติชมทุกประการ และพร้อมจะนำคำติชมนั้นไปพัฒนางานต่อไปค่ะ
สุดท้ายนี้ผู้เขียนต้องขอขอบพระคุณท่านวิทยากร คุณจิรวัฒน์ พรหมพร เป็นอย่างสูง ที่ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลและเอกสารประกอบการอบรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ปฎิบัติงานของผู้เขียนเป็นอย่างมาก เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนนำมาเล่าสู่กันฟังนี้ ก็มาจากเอกสารของท่านวิทยากรค่ะ ขอขอบพระคุณหน่วยงานหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อนุญาตให้ผู้เขียนได้เข้าร่วมการอบรมปฎิบัติการใช้ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้ผู้เขียนได้มีทักษะเพื่อนำไปปฎิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และขอบคุณผู้อ่านทุก ๆ ท่าน ที่อ่านมาจนจบนะคะ ขอบคุณค่ะ |