โครงการให้ความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการแก่นักศึกษา MU Guide ประจำปีงบประมาณ 2561 ณ กรุงเทพมหานคร จัดโดยฝ่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นกิจกรรมที่จัดให้นักศึกษา MU Guide ได้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาความรู้เพิ่มเติม ณ พิพิธภัณฑ์ ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งยังได้เห็นถึงการนำชมในสถานที่ระดับประเทศ อันจะสร้างเสริมประสบการณ์ในการเป็น MU Guide ที่จะต้องต้อนรับแขกของมหาวิทยาลัยเยี่ยมชมหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนกและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่วิถีชุมชมอีกด้วย โดยจะเรียกกิจกรรมนี้สั้น ๆ ว่า ค่าย MU Guide ณ กรุงเทพฯ
ในกิจกรรมค่าย MU Guide ณ กรุงเทพฯ ได้นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่
ทำเนียบรัฐบาล
ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่สำคัญ ที่ผู้นำรัฐบาล คือ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ใช้เป็นสถานที่ทำงาน มีหน่วยงานราชการสำคัญคือ สำนักนายกรัฐมตรี และยังเป็นสถานที่สำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี ต้อนรับบุคคลสำคัญที่มาเยือนประเทศไทย และจัดงานสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงการเปิดให้หน่วยงานที่มีความสนใจเข้าเยี่ยมชมได้ โดยมีส่วนงานที่ดูแลต้อนรับสำหรับคณะที่เข้ามาศึกษาดูงานโดยเฉพาะ และมี Fanpage ศึกษาดูงาน”ทำเนียบรัฐบาล” สำหรับบริการโพสรูปให้คณะที่มาศึกษาดูงานด้วย
นอกจากจะมีความสำคัญดังกล่าวมาแล้วนั้น ทำเนียบรัฐบาลยังเป็นสถานที่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่งดงามและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย แต่เดิมนั้นทำเนียบรัฐบาลเป็น บ้านนรสิงห์ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก จางวางเอก เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ต่อมาเจ้าพระยารามราฆพได้เสนอขายให้รัฐบาล เนื่องจากเป็นบ้านที่ใหญ่โตเกินฐานะและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมาก และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ทำเนียบสามัคคีชัย ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมตรี

โดยอาคารแรกที่ได้เข้าชมคือตึกนารีสโมสร เดิมชื่อตึกพระขรรค์ ซึ่งเป็นที่ทำการของที่ทำการของโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นศูนย์แถลงข่าวของคณะรัฐมนตรี คณะได้เข้าฟังบรรยายสรุปและชมวีดีทัศน์ให้ทราบความสำคัญก่อนได้ไปชมสถานที่จริง โดยมีคุณสุรพล บานชื่น เป็นผู้ให้การต้อนรับ
จากนั้นได้ไปเยี่ยมชมตึกบัญชาการ 1 ซึ่งเป็นสำนักงานของข้าราชการการเมือง และเป็นที่ให้สัมภาษณ์และแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีเป็นประจำอีกด้วย
อาคารต่อมาที่ได้ไปชมคือ ตึกไทยคู่ฟ้า เดิมชื่อตึกไกรสร การก่อสร้างโดยใช้ศิลปะยุโรปแบบนีโอโกธิคผสมเวเนเชียน ประดับด้วยลายปูนปั้น และภาพเขียนเฟสโก้ที่สวยงาม เป็นสถานที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี อาคารนี้ไม่ได้เข้าไปชมด้านในเนื่องจากวันที่ไปนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางมาปฎิบัติภารกิจพอดี
ต่อไปเป็นตึกสันติไมตรี ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้ในการประชุมสัมมนา ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และการจัดงานเลี้ยงต่าง ๆ มีสองหลังคือ ตึกสันติไมตรีหลังนอก สร้างในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สมคราม และ ตึกสันติไมตรีหลังใน ซึ่งสร้างเพิ่มเติมในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร เนื่องจากอาคารหลังนอกพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการจัดงานใหญ่ ๆ ระหว่างอาคารทั้งสองหลังเป็นลานหินอ่อน คลุมด้วยเพดานกระจกลายพรรณพฤกษาสวยงาม
ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ณ อาคารสยามมินทร์ โรงพยาบาลศิริราช
หลังจากเสร็จสิ้นการเยี่ยมชมทำเนียบรัฐบาลแล้ว ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเข้าชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยก่อนเข้าชมนั้น ได้ถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อเป็นสิริมงคลก่อน
การเข้าชมห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ณ อาคารสยามมินทร์ โรงพยาบาลศิริราช ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.สรรใจ แสงวิเชียร เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และประวัติโรงพยาบาลศิริราช
ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก แสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้รวบรวมเอกสารและของใช้ส่วนพระองค์ให้ได้ชม
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 (ก่อนปีพ.ศ. 2484 ประเทศไทยใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) ทรงศึกษาในชั้นต้นโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง และโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม หลังจากพระราชพิธีโสกัณฑ์แล้ว ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ในปี พ.ศ.2447 ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร หลังจากลาสิขาแล้ว ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ โดยเริ่มแรกที่โรงเรียนแฮร์โรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โรงเรียนนายร้อยชั้นต้น เมืองพอทสดัม โรงเรียนนายร้อยชั้นสูงทหารบกที่โกรสลิชเตอร์เฟลเด้ เมืองเบอร์ลิน และโรงเรียนนายเรือเฟลนส์บูร์ก มุรวิก ประเทศเยอรมนี ตามลำดับ หลังจากนั้นได้เสด็จกลับมารับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในระหว่างนั้นก็ทรงเห็นว่าการแพทย์เป็นเรื่องสำคัญของประเทศอีกประการหนึ่ง จึงได้ทรงลาออกจากกระทรวงทหารเรือ และเปลี่ยนไปทรงศึกษาทางการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ในระหว่างนั้นยังได้พระราชทานทุนการศึกษาให้นักเรียนไทยไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกาอีกหลายคน ระหว่างนั้นทรงรับพระราชธุระเป็นผู้ประสานงานกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการพัฒนาการศึกษาด้านการแพทย์ให้กับประเทศไทยอีกด้วย
ระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทรงพบกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ซึ่งเป็นนักเรียนทุนวิชาพยาบาล ของสมเด็จพระพันวัสสาฯ หลังจากนั้นได้ทรงอภิเษกสมรสด้วยวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 มีพระราชโอรสพระราชธิดา 3 พระองค์คือ 1.สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 2.พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร 3.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในปี พ.ศ. 2471 ทรงสำเร็จการศึกษา เสด็จกลับประเทศไทยและได้ทรงงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช หลังจากนั้นก็ทรงพระประชวร ประทับในพระตำหนักวังสระปทุม จนกระทั่งเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวายในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สิริพระชนมายุได้ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน
นอกจากการพระราชทานทุนในด้านการแพทย์และพยาบาลแล้วแล้ว ยังได้พระราชทานทุนการศึกษาในด้านสาธารณสุขศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย
บ้านศิลปิน ณ คลองบางหลวง
หลังจากดื่มด่ำจากการฟังบรรยาย ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก โรงพยาบาลศิริราชแล้ว ได้เดินทางต่อไปยัง บ้านศิลปิน ริมคลองบางหลวง ได้เห็นวิถีชีวิตและแหล่งท่องเที่ยวชุมชนริมน้ำ โดยบ้านศิลปิน เป็นบ้านไม้สองชั้น ล้อมลานโล่ง ที่มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเป็นฉากหลัง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ด้านหุ่นละครเล็ก โดยคณะ สิปปธรรม คํานาย ที่ได้ศึกษาการเชิดหุ่นละครเล็ก มาจากคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ การแสดงหุ่นละครเล็กนี้ ครูแกร ศัพทวนิช เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา โดยดัดแปลงมาจากหุ่นหลวง ซึ่งมีการใช้กลไกที่ยุ่งยาก เมื่อครูแกรได้สร้างหุ่นละครเล็กครบที่จะแสดงได้แล้ว ได้นำไปแสดงให้เจ้านายในวังวรดิสทอดพระเนตรเป็นครั้งแรก มีคณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์เป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดวิชาต่อกันมา การแสดงหุ่นละครเล็กมีการออกลีลาท่าทางต่าง ๆ เหมือนการแสดงโขน ผู้เชิดจึงต้องมีพื้นฐานทางการแสดงโขนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว การตั้งวง การแสดงออกที่ต้องใช้นาฏยศัพท์ในการสื่อสารกับผู้ชม
ในการแสดงของคณะสิปปธรรม คํานาย ในวันนี้เริ่มด้วยพิธีไหว้ครูก่อนแล้วจึงเริ่มการแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ตอน หนุมานพบมัจฉานุ เป็นการแสดงร่วมกันระหว่างหุ่นละคนเล็กกับการแสดงโขน ทำให้เห็นการประยุกต์การแสดงที่น่าสนใจ และนอกจากการแสดงตามบทแล้ว ยังได้ออกมาหยอกล้อกับผู้ชม ทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการแสดงด้วย สร้างความสนุกสนานและน่าสนใจเพิ่มขึ้นจากการชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว และยังมีการสาธิตในการสอนเชิดหุ่นและการเล่นโขนเบื้องต้นให้กับตัวแทนผู้ชมที่สนใจ
นอกจากการแสดงหุ่นละครเล็กแล้ว ยังมีกิจกรรมระบายสีหน้ากาก ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ร่วมสนุกและนำกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกกันอีกอย่างหนึ่ง
เยือนถิ่นเก่าย่านกุฎีจีน
ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างน้อย เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ในย่ายกุฎีจีนนี้เป็นที่ตั้งรกรากของชาวไทยเชื้อจีน และชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส มีทั้งวัดพุทธ ศาลเจ้าจีน และโบสถ์คาทอลิก เรียงกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งมีชุมชนมุสลิมและมัสยิดอิสลามอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันอีกด้วย ในครั้งนี้ได้ไปเยี่ยมชมวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง โบสถ์ซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วัดกัลยาณมิตร
สร้างโดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ที่สมุหนายก ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศที่ดินของท่าสร้างวัดถวายให้เป็นพระอารามหลวง ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” และทรงพระกรุณาโปรเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโต (มีชื่อเรียกอย่างจีนว่า ซำปอกง) และวิหารหลวงขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐาน เพื่อให้เหมือนกับวัดพนัญเชิง ในสมัยอยุธยา
ศาลเจ้าเกียนอันเกง
เป็นศาลเจ้าจีนสร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยน เป็นศิลปะแบบจีนตอนใต้ ประดับด้วยไม้แกะสลักงดงาม อายุกว่าร้อยปี ปัจจุบันประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมเป็นประธาน แต่เดิมเชื่อว่าเคยเป็นวัดที่มีพระภิกษุจีนจำพรรษาอยู่ด้วย และเป็นที่มาของชื่อกุฎีจีน
โบสถ์ซางตาครู้ส
เป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ชื่อโบสถ์ซางตาครู้ส แปลได้ว่า ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ สร้างขึ้นในชุมชนชาวโปรตุเกสที่ได้ร่วมกับพระเจ้ากรุงธนบุรี รบกับพม่าหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา โบสถ์หลังปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2459 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ศิลปะเรอแนซ็องส์ เช่นเดียวกับโบสถ์อัสสัมชัญ ภายในยังประดับด้วยกระจกสีเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์อย่างงดงาม โบสถ์แห่งนี้ยังรักษาประเพณีดั้งเดิมของชาวโปรตุเกสไว้ คือ พิธีถอดพระ ซึ่งเป็นการจำลองฉากที่พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์ ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ (Good Friday) โดยใช้รูปพระเยซูสลักจากไม้ซึ่งเชื่อว่าตกทอดมาจากสมัยอยุธยา
พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เอกชนใช้บ้านเดิมของตนในชุมชนกุฎีจีนจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ และดูแลโดยคนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับชาวโปรตุเกสในประเทศไทย โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสที่สืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบันในชุมชนกุฎีจีน แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ ความเชื่อ อาหารการกิน ข้างของเครื่องใช้ และการใช้ชีวิตอยู่ของคนในชุมชนรุ่นก่อน นอกจากพื้นที่จัดแสดงแล้ว ยังเปิดเป็นร้านคาเฟ่เล็ก ๆ ให้ได้นั่งพักชิมขนมแบบดั้งเดิมของชุมชน เครื่องดื่มต่าง ๆ และเลือกซื้อของที่ระลึก ซึ่งได้จัดจำหน่ายเพื่อเป็นการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ นอกจากนี้ในชุมชนบริเวณใกล้เคียงกับพิพิธภัณฑ์ ยังเป็นแหล่งขายขนมฝรั่งกุฎีจีนซึ่งเป็นขนมที่ขึ้นชื่อของย่านนี้อีกหลายร้านด้วย
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ได้อุทิศพื้นที่สวนกาแฟข้างบ้านของท่าน สร้างเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. 2371 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม “วัดประยุรวงศาวาส” นอกจากพระอุโบสถ พระวิหาร และเสนาสนะอื่น ๆ แล้ว สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ยังได้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ทรงระฆัง แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการบูรณะ โดยอนุรักษ์ตามแบบเดิมเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.2556 ได้รับรางวัล Award of Excellence จากองค์การยูเนสโก้ ในด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังมี เขามอ ซึ่งเป็นภูเขาจำลองก่อด้วยศิลา ตั้งอยู่กลางสระน้ำ แวดล้อมไปด้วยพระสถูปเจดีย์ วิหาร ศาลารายน้อยใหญ่ และพรรณไม้หายากนานาชนิด เป็นรมณียสถานคู่พระอารามนี้มายาวนาน โดยได้รับแนวคิดมาจาก “หยดเทียนขี้ผึ้ง” มีที่มาจากน้ำตาเทียนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดขณะเมื่อประทับอยู่ในห้องสรง ภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อน้ำตาเทียนหยดทับถมกันเป็นเวลานานหลายปี จึงก่อรูปขึ้นมีลักษณะเหมือนภูเขา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์จึงได้นำเอารูปแบบของหยดเทียนขี้ผึ้งนี้สร้างเป็นเขามอ ณ วัดนี้
นอกจากนี้วัดประยุรวงศาวาสยังมีความสำคัญในประวัติศาสตร์อีกอย่างคือ เมื่อ พ.ศ. 2379 มีการฉลองวัด มีการแสดงมหรสพมากมาย และมีการทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ โดยฝังโคนกระบอกปืนใหญ่ลงในแผ่นดินเมื่อจุดชนวนขึ้น ปรากฎว่าปืนใหญ่เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จึงได้มีการตามตัวหมอบรัดเลที่มีบ้านอยู่ไม่ไกลจากวัดมากมาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นพระภิกษุที่บาดเจ็บกระดูกแขนแตกสาหัส หมอบรัดเลจำต้องตัดแขนพระรูปนั้น และการผ่าตัดก็ประสบผลสำเร็จ เป็นการผ่าตัดแบบตะวันตกครั้งแรกในประเทศไทยได้เกิดขึ้นที่วัดประยุรวงศาวาสนี่เอง หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ได้สร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปปืนใหญ่ 3 กระบอก ไว้ในบริเวณเขามอวัดประยุรวงศาวาสเพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย
อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ที่จะให้อนุรักษ์อาคารเก่าซึ่งมีลักษณะและที่ตั้งใกล้เคียง “บ้าน” ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับในบริเวณชุมชนหลังวัดอนงคาราม ด้านหน้าประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขนาดเท่าพระองค์จริง ประทับนั่งในพระอิริยาบถสบาย ๆ ดินใต้ฐานพระราชานุสาวรีย์นั้นนำมาจากสถานที่ต่าง ๆ ที่พระองค์เคยเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจ ภายในอุทยานมีอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจต่าง ๆ สถานที่ประทับเมื่อทรงพระเยาว์ และยังมีประวัติของชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีบ้านจำลองที่ได้จำลอง “บ้านเดิม” ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งเคยประทับที่ชุมชนแห่งนี้ จัดแสดงตามหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงได้รับการเล่าพระราชทานจากสมเด็จย่า สิ่งก่อสร้างโบราณที่ยังมีอยู่ได้แก่ บ่อน้ำ และทิมบริวาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ที่อนุรักษ์ไว้ให้ได้ชมกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอาคารแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยาน ในวันอังคารที่ 21 มกราคม 2540
พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน
วังปารุสกวัน เดิมเป็นพื้นที่ของสองวัง ได้แก่เขต ตำหนักจิตรลดา ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และวังปารุสก์ เป็นที่ประทับเดิมของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ หลังจากได้รับพระราชทานตำหนักจิตรลดาแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ได้ทรงรวมพื้นที่วังเป็นผืนเดียวกัน

ปัจจุบันวังปารุสกวัน ใช้เป็นพื่นที่ของส่วนราชการต่าง ๆ โดยตำหนักปารุสก์เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตำหนักจิตรลดาใช้เป็นพิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ตำหนักจิตรลดา จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวังปารุสกวัน โดยตำหนักจิตรลดานี้เดิมเป็นที่ประทับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ต่อมาพระราชทานให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ชื่อวังนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งจากอุทยานของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี 4 แห่งคือ สวนมิสกวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนนันทวัน หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้โอนวังปารุสกวันกลับคืนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ได้ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และที่เป็นทำเนียบของพระยาพหลพลพยุหเสนา ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงแก่อสัญกรรม
ตำหนักจิตรลดาสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกแบบโดยนายมารีโอ ตามัญโญ ซึ่งเป็นช่างชุดกันกับการออกแบบ พระที่นั่งอนันตสมาคม และพระที่นั่งอัมพรสถาน ตำหนักจิตรลดาเป็น อาคารแบบอิตาเลียนวิลล่า สถาปัตยกรรมแบบสติลลิเบอร์ตี้ ประดับลวดลายปูนปั้นบริเวณหัวเสา เป็นลายดอกไม้เซาะร่อง เหนือกรอบหน้าต่างชั้นล่าง สะดุดตาด้วยกระบังกันแดด เหนือหน้าต่างรูปโค้ง ประดับด้วยลายฉลุไม้รูปดอกไม้ใบไม้ทรงเรขาคณิต ในส่วนชั้นบน สื่อถึงการเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นสูงด้วยลวดลายปูนปั้น การออกแบบอาคารนั้น ถึงแม้จะใช้สถาปัตยกรรมตะวันตก แต่ก็ได้ออกแบบให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ และการใช้งานที่เหมาะสมในประเทศไทยด้วย
ตำหนักจิตรลดานี้แม้ไม่ได้ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ แต่โปรดให้ใช้เป็นท้องพระโรงและรับแขก รวมถึงเป็นที่ตั้งพระศพหลังทิวงคต โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ว่า “ครั้นถึงที่วังตั้งพระโกศในห้องเต้นรำใหญ่ที่เรือนรับแขก เพดานไม่สูงพอ ต้องเจาะสำหรับยอดโกศ เหนือยอดโกศ โปรดให้ห้อยเศวตรฉัตร 5 ชั้น ตามอิสริยยศรัชทายาท เป็นของแปลกที่ในงานทำบุญพระบรมอัฐิย่าเมื่อก่อนไปสิงคโปร์ พ่อทอดพระเนตรเพดานห้องนั้นหันมารับสั่งกับข้าพเจ้าว่า “เพดานห้องนี้เวลาพ่อตายจะไม่สูงพอตั้งศพ แต่ไม่เป็นไร ตายไปแล้วก็แล้วกัน การทำศพเป็นหน้าที่ของคนอยู่ คนตายไม่เป็นไร หนูไม่ทำศพให้พ่อดี ๆ ก็ขายหน้าเขาเอง” ภายในไม่ถึง 15 วันท่านก็ “ตาย” จริงๆ”

อีกอาคารที่สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารกระจกจัดแสดงประวัติความเป็นมาของตำรวจในประเทศไทย
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นวัดประจำรัชกาล เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างไทยและตะวันตกที่สวยงาม ในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธาน ซึ่งที่ฐานบัลลังก์ของพระพุทธอังคีรสนั้นประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาไลย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ที่ฐานชุกชีประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เนื่องจากวันที่ไปชมนั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์ ณ พระอุโบสถ ทำให้ไม่ได้เข้าไปด้านใน แต่ก็ได้นำภาพในโอกาสอื่นมาให้ชมกันด้วย

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างสุสานหลวง ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด ได้อยู่รวมกันหลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่าทรงมีพระราชประสงค์ให้ครอบครัวของพระองค์ได้อยู่ใกล้ชิดกันนั่นเอง โดยได้บรรจุพระสรีรางคาร พระอังคาร และพระศพ ของเจ้านายในจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และทายาทผู้สืบสกุลอยู่ตามอนุสรณ์สถานต่าง ๆ ในสุสานหลวงเป็นจำนวนมาก มีอนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เป็นเจดีย์สีทอง 4 องค์ เป็นแกนประธานเรียงลำดับจากทิศเหนือไปทิศใต้ คือ
- สุนันทานุสาวรีย์ พระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
- รังษีวัฒนา พระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า)
- เสาวภาประดิษฐาน พระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)
- สุขุมาลนฤมิตร์ พระราชทานแก่พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี)
ภายในอนุสาวรีย์รังษีวัฒนานี้เอง เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารในเจ้านายในสายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อันมีเจ้านายในราชสกุลมหิดลเป็นหนึ่งในสายนั้นด้วย โดยมุขด้านทิศเหนือเป็นที่บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

มิวเซียมสยาม
มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่เน้นให้ผู้เข้าชมได้มีประสบการณ์ใหม่ในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ผ่านการเทคโนโลยีที่ทันสมัย และกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่าง ๆ มีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
ในช่วงนี้เป็นการจัดแสดงนิทรรศการ ชุด “ถอดรหัสไทย” ทำให้เรียนรู้เกี่ยวกับการแสดงออกซึ่งความเป็นไทย ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ตามบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดตามยุคสมัย โดยมีการจัดแสดงทั้งหมด 14 ห้อง ประกอบด้วย
- ไทยรึเปล่า เป็นห้องแรกที่รวบรวมคำถามถึงความเป็นไทย เช่น หุ่นเลดีกาก้าที่ใส่ชฎาในคอนเสริต
- ไทยแปลไทย มีสิ่งของและลิ้นชักที่ภายในใส่สิ่งของต่าง ๆ ที่ถูกให้คำจำกัดความว่าเป็นไทย
- ไทยตั้งแต่เกิด ใช้ระบบ Module Hydraulic ในการนำเสนอถึงความเป็นไทยในสมัยต่าง ๆ เป็นการใช้สื่อผสมที่มีความน่าสนใจมาก
- ไทยสถาบัน นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ สถาบันหลัก ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยให้ผู้ชมเลือกต่อจิ๊กซอเรื่องราวเกี่ยวกับสถาบันต่าง ๆ ให้ถูกต้อง
- ไทยอลังการ จำลองบรรยากาศภายในท้องพระโรง และมีพระแท่นจำลองให้ชม รวมถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับไตรภูมิและจักรวาลคติแบบไทย
- ไทยแค่ไหน จัดแสดงเครื่องแต่งกายหลากหลายรูปแบบเช่นชุดโขน ชุดไทยพระราชนิยม ชุดรับปริญญา ชุดไทยประยุกต์ เป็นต้น
- ไทย Only นำข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เห็นแล้วทำให้ถึงความเป็นไทยแน่ ๆ โดยกลางห้องมีรูปคุณเอิบทรัพย์ เป็นนางกวักขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องบูชาอยู่ด้านหน้า และด้านข้างมีการจัดแสดงสิ่งของ เช่น พวงเครื่องปรุง ถุงหิ้วกาแฟผูกหนังยาง เป็นต้น
- ไทย Inter เป็นการจัดคู่สิ่งที่แสดงถึงความเป็มไทยในสายตาคนต่างชาติ เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์คู่กับเรือหางยาว ผลไม้แกะสลักคู่กับผลไม้รถเข็น อาหารชาววังคู่กับอาหารข้างถนน เป็นต้น
- ไทยวิทยา จำลองห้องเรียนใน 4 ยุคสมัย มีแบบเรียนในสมัยต่าง ๆ ให้ดู และสามารถเปลี่ยนเป็นชุดนักเรียนไปเรียนในห้องเรียนได้ด้วย
- ไทยชิม บอกเล่าถึงเรื่องราวของอาหารไทย วัตถุดิบ วิธีทำ ผ่านเทคโนโลยีที่ลำสมัย
- ไทยดีโคตร เป็นการแสดงให้เป็นว่าความเป็นไทย หลาย ๆ อย่างก็ไม่ได้เป็นไทยแท้ เช่น พระปรางค์วัดอรุณฯ ที่ถูกนำเสนอแทนความเป็นไทยอยู่บ่อยครั้ง ก็วิวัฒนาการมาจากปราสาทของขอมและอินดีย
- ไทยเชื่อ รวบรวมความเชื่อของไทย 108 อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา พราหมณ์ การนับถือผี สิ่งลี้ลับ การทำนายดวงชะตาต่าง ๆ
- ไทยประเพณี เป็นการจำลองประเพณี เทศกาล และมารยาทของไทย โดยมีอุปกรณ์และของเล่น บรรจุไว้ในกล่อง ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัส เรียนรู้ และทดลองมีส่วนร่วมอย่างสนุกสนาน
- ไทยแชะ มีชุดไทยแบบต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์และฉาก ให้ผู้เข้าชมเปลี่ยนชุดถ่ายรูปกันได้
เมื่อชมนิทรรศการจนครบแล้ว ก็เป็นคำถามปลายเปิดให้กับผู้เข้าชมได้คิดไปต่อว่า อะไรคือ “ความเป็นไทย” กันแน่
หลังจากเข้าชมที่มิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายของการเดินทางในครั้งนี้แล้ว ได้ไปรับประทานอาหารร่วมกัน และประกาศผลการประกวดดาวเดือนประจำค่าย ก่อนเดินทางกลับมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ภาพโดย
- นางสาวจงภัทร นมะภัทร
- นายคมสันต์ นาจาด
- นายนราวุฒิ สุวรรณัง
- นายศิริพงศา โจโฉ
- นายศุภธัช ปวีณดำรง
- นายพงศกร ระวิเพียรทรัพย์