
แหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจในจังหวัดสงขลา
“สงขลา” เมืองประวัติศาสตร์ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย มีชุมชนและเมืองเก่าแก่ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปะพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแหล่งหนึ่งในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด วันนี้ผู้เขียนจะมาชวนทุกท่านนั่งเรือกอและ แวะชมแหล่งเรียนรู้ที่ต้องห้าม (พลาด) ในจังหวัดสงขลากัน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ สงขลา ตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นสถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรป สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2421 โดยพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่พักของคนในตระกูล ต่อมาทายาทได้ขายบ้านให้กับทางราชการเพื่อใช้เป็นที่พำนักของข้าหลวง และใช้เป็นที่ทำการของราชการ ก่อนถูกใช้เป็นศาลากลางของจังหวัดและถูกทิ้งร้างไว้

จนเมื่อปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถาน และทำการปรับปรุงเพื่อใช้มาเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสงขลา ในปัจจุบัน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ. 2525 โดยตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ถูกทาด้วยสีขาวและแดง รูปทรงสวยงามแปลกตา ภายในจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจัดแสดงศิลปวัตถุ งานสถาปัตยกรรม งานประเพณีศิลป์ และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับมอบจากประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
โดยแบ่งโซนอาคารจัดแสดงดังนี้

ชั้นล่าง แบ่งการจัดแสดงเป็น 8 ส่วน ได้แก่ วิถีชีวิตสงขลา ภูมิลักษณ์คาบสมุทรสงขลา สงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์ สงขลาสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เมืองสงขลาหัวเขาแดง เมืองสงขลาแหลมสน เมืองสงขลาบ่อยาง และสงขลาย้อนยุค
ชั้นที่ 2 แบ่งการจัดแสดงเป็น 5 ห้อง ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ บันทึกสงขลา ศิลปกรรมสงขลา ประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ตอนล่าง สุนทรียภาพในวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ตอนล่าง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น.
หยุดทุกวันจันทร์ – อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
- ชาวไทย คนละ 30 บาท (ฟรีสำหรับพระภิกษุ สามเณร นักเรียน และผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป)
- ชาวต่างประเทศ 150 บาท
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา

พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ตั้งอยู่บนเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา บริเวณเชิงเขาและยอดเขา ที่สามารถมองทัศนียภาพของเกาะยอและสะพานติณสูลานนท์ ได้อย่างสุดลูกหูลูกตา โดยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ โดยการใช้วัตถุของจริงกว่า 50,000 ชิ้น ผสานกับสื่อจัดแสดงที่มีความหลากหลาย เช่น หุ่นจำลอง เสียง ภาพ วีดิทัศน์ โดยจัดแสดงประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ของคนภาคใต้ มีห้องจัดวัตถุที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้แก่ ห้องจัดแสดงลูกปัดและเครื่องประดับ ห้องจัดแสดงมีดและศาสตราวุธ ห้องแสดงเครื่องมือทำมาหากิน เช่น เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องปั้นดินเผา ผ้าทอพื้นเมือง มีห้องจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นสมัยนั้น เช่น ห้องกระต่ายขูดมะพร้าว ห้องหัตถศิลป์ ห้องวัฒนธรรมเครื่องประดับ และวัฒนธรรมเครื่องแก้ว ห้องวัฒนธรรมโลหะและโลหัช (สัมฤทธิ์ ทองเหลือง) ห้องมุสลิมศึกษา ห้องการละเล่นพื้นเมือง ห้องศาสนา ห้องเหรียญและเงินตรา เป็นต้น

หากท่านมาเยี่ยมชมศึกษาประวัติศาสตร์ของภาคใต้ที่พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาแห่งนี้ ท่านจะได้เรียนรู้ความเป็นภาคใต้ ตลอดจนคติความเชื่อ เรื่องราวการดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวใต้อย่างเต็มอิ่ม
โดยผู้เขียนได้เขียนบล็อกเรื่อง พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ประตูสู่อารยธรรมภาคใต้ กับความท้าทายในปัจจุบัน หากผู้ใดสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://km.li.mahidol.ac.th/folklore-museum-at-songkhla/
พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร เวลา 08.30 – 17.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
- นักเรียน ระดับประถม มัธยม อัตราคนละ 10 บาท
- นิสิต นักศึกษา อัตราคนละ 20 บาท
- บุคคลทั่วไป อัตราคนละ 50 บาท
- ชาวต่างประเทศ อัตราคนละ 100 บาท
หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบันทึกความทรงจำ และถ่ายทอดความประทับใจของชาวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านอุดมการณ์แห่งพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก ภายใต้แนวคิด “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” เป็นพื้นที่ส่งต่อจิตวิญญาณการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นปณิธานของมหาวิทยาลัย
โดยแบ่งการจัดแสดงเป็นโซนนิทรรศการ 3 โซน ได้แก่

- พระราชประวัติของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ต้นแบบของการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์
2. ใต้ร่มพระบารมี จัดแสดงการสืบสานพระปณิธานผ่านการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงส่งต่อปณิธานนี้ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปรียบเสมือนร่มไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มเย็นแก่สรรพชีวิต
3. ประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดแสดงประวัติ และพัฒนาการของมหาวิทยาลัย ผ่านเรื่องราวของการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ ตามแนวคิดของหอประวัติฯ

เครื่องสังเค็ด (ตาลปัตรและตู้) ครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และใบปริญญาบัตร ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข
นอกจากนี้ภายในหอประวัติฯ ยังมีวัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญและน่าสนใจอื่น ๆ ได้แก่ เครื่องสังเค็ด (ตาลปัตรและตู้) ซึ่งจัดทำถวายพระราชาคณะ เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระบรมราชชนก ตู้โชว์รูปหล่อและเหรียญที่ระลึกสมเด็จพระบรมราชชนก ที่จัดทำขึ้นในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ภาพวาดสีน้ำมันสมเด็จพระบรมราชชนก วาดโดยศิลปินแห่งชาติ คุณจักรพันธุ์ โปษยกฤต ไมโครโฟน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงใช้พระราชทานพระบรมราโชวาทในวโรกาสที่ทรงเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เครื่องไซโลโฟน ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์ ทรงมอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยฯ เก็บรักษาไว้ ชุดครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และใบปริญญาบัตร ที่มหาวิทยาลัยนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หุ่นขี้ผึ้งรูปเหมือนศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข อดีตอธิการบดี ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น
หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองไปเยี่ยมชมและซึมซับบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่านชาวมหิดล เพราะเนื้อการจัดแสดงมีเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับหอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนก และหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลของเรา ที่บอกเล่าเรื่องราวของพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก อีกทั้งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีส่วนเชื่อมโยงกันในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพระนามของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้แก่ทั้งสองมหาวิทยาลัย ก็นับว่าเราต่างเป็นมหาวิทยาลัยลูกพ่อเดียวกัน
พระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ได้พระราชทานเมื่อครั้งเสด็จไปเยือนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใน พ.ศ. 2523
หอประวัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ – วันศุกร์ วันละ 2 รอบ รอบเช้า เวลา 09.00 – 11.30 น. และรอบบ่าย เวลา 13.00 – 15.30 น
หยุดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
โดยไม่มีค่าธรรมเนียมเข้าชม

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งวิจัยด้านธรรมชาติศึกษาแก่ชุมชนในท้องถิ่นภาคใต้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนาม “พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี”

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาจัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ จากการนำนักศึกษาออกศึกษาภาคสนามมาใช้ประกอบการเรียนการสอน และได้นำตัวอย่างบางส่วนมาจัดนิทรรศการเพื่อให้ผู้สนใจเข้าชม รวมทั้งจัดเรื่องของชีวิตกับ ทรัพยากรธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมกับชีวิต อันเป็นจุดกำเนิดของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในยุคต่าง ๆ โดยมีพื้นที่จัดแสดงแบ่งออกเป็นหลายส่วน ได้แก่ ส่วนโถงอาคาร ใช้เป็นพื้นที่รวมพลเพื่อแนะนำและอธิบายเกี่ยวกับภาพรวมของพิพิธภัณฑ์ฯ ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวนิทรรศการหลัก
พื้นที่ชั้นที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับต้นกำเนิดของธรรมชาติ ตั้งแต่การก่อเกิดจักรวาล อวกาศและดวงดาว ไปจนถึงการกำเนิดสิ่งมีชีวิตและวิวัฒนาการ โดยมีการจัดเรียงเนื้อหาตามช่วงเวลา เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงความเป็นมาของโลก ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ธรณีวิทยา หินและแร่

ชั้นลอย มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ เป็นพื้นที่นิทรรศการชั่วคราว ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเพื่อให้สาธารณชนได้ความรู้ที่หลากหลาย และทันสมัย
ชั้นที่ 2 ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เป็นพื้นที่ที่อธิบายเกี่ยวกับความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต จัดแสดงโครงกระดูกสิ่งมีชีวิต ปะการัง สัตว์ขาข้อ มอลลัสก์ (ปลาหมึก และหอย) ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งวัตถุจัดแสดงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างจริง ซึ่งจะสร้างความรู้สึกตื่นเต้น และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และการเรียนรู้ให้กับผู้เข้าชมได้
ชั้นที่ 3 ระบบนิเวศ เป็นการจำลองระบบนิเวศแบบต่าง ๆ ได้แก่ ระบบนิเวศทางทะเล ระบบนิเวศชายฝั่ง ระบบนิเวศป่าเขตร้อน ระบบนิเวศถ้ำหินปูน ระบบนิเวศในแนวปะการังเทียม ระบบนิเวศทางทะเล ระบบนิเวศชายฝั่ง เป็นต้น

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี
เปิดให้เข้าชมวันอังคาร – วันเสาร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
หยุดทุกวันอาทิตย์ – วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
- นักเรียน นักศึกษา 20 บาท
- บุคคลทั่วไป 30 บาท
- เด็กเล็ก เข้าชมฟรี

และทั้งหมดนี้คือ “แหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจในจังหวัดสงขลา” ที่ผู้เขียนอยากแนะนำให้ทุกท่านได้ลองแวะไปเยี่ยมเยือน นอกเหนือจากการไปเที่ยวทะเลหรือภูเขา ลองเปลี่ยนมาเที่ยวแหล่งเรียนรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ดูบ้าง
มันอาจเพิ่มห้วงเวลาแห่งการเรียนรู้ และสร้าง Quality Time ให้กับผู้อ่านและคนในครอบครัวของท่านได้ ไม่มากก็น้อย
