หลักสูตร “ขั้นตอนและกระบวนการ การควบคุมพัสดุ การจัดทำทะเบียนสินทรัพย์ การตรวจสอบพัสดุประจำปี และการจำหน่ายพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และการขายทอดตลาด”
ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม พ.ศ.2562
นางสาวสุทธิณี ฝุ่นครบุรี
นางสาวกิ่งเพชร ปลื้มเงิน
จากการที่หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลได้อนุมัติให้นางสาวสุทธิณี ฝุ่นครบุรี ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ และนางสาวกิ่งเพชร ปลื้มเงิน ตำแหน่งนักวิชาการพัสดุ (ผู้ชำนาญการ) เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “ขั้นตอนและกระบวนการ การควบคุมพัสดุ การจัดทำทะเบียนสินทรัพย์ การตรวจสอบพัสดุประจำปี และการจำหน่ายพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และการขายทอดตลาด” ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม พ.ศ.2562 โดยวิทยากร อาจารย์อธิวัฒน์ โยอาศรี นักวิชาการพัสดุชำนาญการพิเศษ (ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาระบบพัสดุ กองพัสดุ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และอาจารย์มนูญ ปานอุทัย
ข้าพเจ้าขอนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมดังกล่าวมาถ่ายทอดโดยขอเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับโครงสร้างกฏหมายและแนวทางปฏิบัติกับการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถแสดงให้เห็นดังแผนผังนี้
โครงสร้างกฏหมายและแนวทางปฏิบัติกับการจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะมีโครงสร้างแล้วยังจะดำเนินการจัดซื้อหรือจ้างใดจำเป็นต้องยึดหลักดังต่อไปนี้ คือ คุ้มค่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจต่อ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบด้วย สำหรับการเข้าอบรมครั้งนี้เป็นการเน้นเนื้อหาและการแนะนำการทำงานภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 4 บริหารพัสดุ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการควบคุมและดูแลพัสดุที่อยู่ในครอบครองให้มีการใช้และการบริหารพัสดุที่เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐมากที่สุด ซึ่งพระราชบัญญัติมาตราดังกล่าวเชื่อมโยงกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หมวด 9 ข้อ 202-219 ซึ่งประกอบด้วย การเก็บ การบันทึก การเบิกจ่าย การตรวจสอบ การบำรุงรักษา การจำหน่ายพัสดุ (พระราชบัญญัติคือแม่บท ส่วนระเบียบคือวิธีหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานนั้นเอง)
สิ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่พัสดุคงเป็น
1.การแยกแยะระหว่างคำว่าวัสดุและครุภัณฑ์ เพราะหลายคนสงสัยและไม่เข้าใจความแตกต่างของ 2 คำนี้จึงขอนำข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาส่งต่อดังนี้
วัสดุ คือ สิ่งของที่มีลักษณะโดยสภาพไม่คงทนถาวร หรือตามปกติมีอายุการใช้งานไม่ยืนนาน สิ้นเปลือง หมดไป หรือเปลี่ยนสภาพในระยะเวลาอันสั้น เช่น ปากกา กระดาษ ไม้บรรทัด เป็นต้น
ครุภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีลักษณะโดยสภาพคงทนถาวร หรือตามปกติมีอายุการใช้งานยืนนาน ไม่สิ้นเปลืองหมดไป หรือเปลี่ยนสภาพในระยะเวลาอันสั้น เมื่อชำรุดเสียหายแล้วสามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดังเดิม
2.การตรวจสอบพัสดุประจำปี ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หมวด 9 ข้อ 213 ระบุให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือหัวหน้าหน่วยพัสดุแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบพัสดุโดยไม่ใช่เจ้าหน้าที่พัสดุ ทำหน้าที่ตรวจสอบพัสดุภายในเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปีงบประมาณของทุกปี (ภายในเดือนกันยายน) ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบพัสดุที่ได้รับแต่งตั้งจะต้องตรวจสอบให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันทำการ นับแต่วันเริ่มทำการตรวจสอบพัสดุ
วิธีการการตรวจสอบ
กรณีเป็นครุภัณฑ์
1.จะต้องตรวจสอบว่าพัสดุคงเหลือมีตัวอยู่ตรงตามบัญชีหรือทะเบียนหรือไม่
2.มีพัสดุใดชำรุด เสื่อมสภาพ หรือสูญไปเพราะเหตุใด หรือพัสดุใดไม่จำเป็นต้องใช้ในหน่วยงานของรัฐต่อไป
3.จากนั้นคณะกรรมการมีหน้าที่รายงานผลตรวจสอบให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ 1ชุด สำเนารายงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 1 ชุด และหน่วยงานต้นสังกัด (สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล คือ สำนักงานอธิการบดี) 1ชุด
ทั้งนี้ในการจัดทำรายงานของหอสมุดและคลังความรู้ฯ หน่วยพัสดุจะเป็นผู้ดำเนินการให้แต่การตรวจสอบครุภัณฑ์นั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจนับพัสดุทุกท่านต้องร่วมมือกันในการตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง ครบถ้วน ของพัสดุในครอบครอง
กรณีเป็นวัสดุ ในการตรวจสอบวัสดุของหอสมุดและคลังความรู้ฯเป็นการตรวจสอบวัสดุสำรองคลังภายในคลังพัสดุประมาณ 300 รายการ โดยคณะกรรมการตรวจสอบพัสดุมีหน้าที่
- ตรวจสอบการรับจ่ายพัสดุในงวด 1 ปีที่ผ่านมา
- ตรวจนับพัสดุประเภทที่คงเหลืออยู่เพียง ณ วันสิ้นงวด
- ให้เริ่มดำเนินการตรวจสอบพัสดุในวันเปิดทำการวันแรกของปีงบประมาณ
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเกร็ดความรู้ที่นำมาส่งต่อจะทำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจถึงกระบวนการบริหารพัสดุไม่มากก็น้อยและขอกราบขอบพระคุณ ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เล่งเห็นความสำคัญต่อการปฏิบัติงานด้านพัสดุ และอนุมัติให้เข้าร่วมหลักสูตร “ขั้นตอนและกระบวนการ การควบคุมพัสดุ การจัดทำทะเบียนสินทรัพย์ การตรวจสอบพัสดุประจำปี และการจำหน่ายพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง และการขายทอดตลาด”ครั้งนี้
ภาพกิจกรรม