
เมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ผู้เขียนและคณะบุคคลากรหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล อีก 8 ท่าน ซึ่งนำโดย ดร.อภิภู สิทธิภูมิมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการและพันธกิจพิเศษ ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน “ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar cell) แบบติดตั้งบนหลังคา” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้รับแนวคิดให้เริ่มศึกษาการใช้พลังงานสะอาดและการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากท่านผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้ฯ โดยท่านผู้อำนวยการฯ ได้แนะนำให้เริ่มศึกษาข้อมูลจากคุณกฤษณ์ ขาวบาง หัวหน้างานหอพักและศูนย์พัฒนาฝึกอบรม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยช่วงเช้าเป็นการฟังบรรยายความเป็นมาและข้อมูลทางด้านเทคนิคของโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar cell) แบบติดตั้งบนหลังคา โดยมีคุณกฤษณ์ ขาวบาง และคุณวิชิต สุขกรม หัวหน้างานกายภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้บรรยายและให้ข้อมูลทางด้านเทคนิค ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar cell) แบบติดตั้งบนหลังคาไปแล้ว 70.4 กิโลวัตต์ (kWp) โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการติดตั้งคือการช่วยลดค่าไฟฟ้าภายในวิทยาเขต ซึ่งในปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าดังกล่าวสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ประมาณ 300,000 บาทต่อปี และยังมีแผนในการขยายกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ส่วนช่วงบ่ายเป็นการเข้าชมสถานที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar cell) จริง โดยเน้นไปที่การศึกษาดูงานด้านเทคนิคการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่มีความลาดเอียง โดยต้องติดตั้งทางเดิน (Walk way) เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน และในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar cell) สำหรับเชื่อมต่อเข้ากับระบบของการไฟฟ้าต้องมีการติดตั้งระบบป้องกันและคุณภาพไฟฟ้าที่ผลิตได้ต้องมีคุณภาพตามที่การไฟฟ้ากำหนดไว้ และที่สำคัญต้องไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าย้อนกลับเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้า
อุปกรณ์หนึ่งที่จำเป็นต้องมีการติดตั้งตามข้อกำหนดของการไฟฟ้าคือ รีเลย์ (Relay) โดยรีเลย์เป็นอุปกรณ์ป้องกันทางไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่มีหลากหลายชนิด การเชื่อมต่อของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีเครื่องกําเนิดไฟฟ้าหรือคอนเวอร์เตอร์ขนาดพิกัดรวมกันไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เชื่อมต่อกับระบบ 22 หรือ 33 กิโลโวลต์ ตามระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยข้อกําหนดการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า พ.ศ. 2559 ต้องมีการติดตั้งรีเลย์ป้องกันดังต่อไปนี้

แผนภาพการติดตั้งรีเลย์ (Relay)
ข้อมูลและหน้าที่ของรีเลย์แต่ละชนิด:
รหัสรีเลย์ | รายละเอียด | คำสั่ง |
25 | รีเลย์ซิงโครไนซ์ | ตรวจสอบการปิดวงจร CB-A, CB-B, CB-C |
27/29 | รีเลย์ป้องกันแรงต่ำ/รีเลย์ป้องกันแรงดันเกิน | สั่งทริป CB-A |
50/51 50N/51N | รีเลย์ป้องกันกระแสเกินด้านเฟสและกราวด์ | สั่งทริป CB-A, CB-B และ CB-C |
59N | รีเลย์ป้องกันแรงดันเกินแบบแรงดันศูนย์ | สั่งทริป CB-A |
67/67N | รีเลย์ป้องกันกระแสเกินแบบมีทิศทางด้านเฟสและด้านกราวด์ | สั่งทริป CB-A |
81 | รีเลย์ป้องกันความถี่ต่ำ/รีเลย์ป้องกันความถี่เกิน | สั่งทริป CB-A |
27R | รีเลย์ป้องกันแรงดันต่ำขณะหนึ่ง | ปิดกั้นการปิดวงจรของ CB-A |
32 | รีเลย์กำลังไฟฟ้าแบบมีทิศทาง | สั่งทริป CB-A |
โมดูลรีเลย์ (Relay)

ภายหลังภารกิจการศึกษาดูงานเสร็จสิ้น คุณกฤษณ์ ขาวบาง ได้เชิญชวนคณะบุคคลากรหอสมุดและคลังความรู้ฯ ถ่ายรูปกับพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีวันมหิดลของทุกๆ ปี และยังเป็นสถานที่สักการะบูชาแก่ประชาชนชาวกาญจนบุรีอีกด้วย
และทั้งหมดนี้คือความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่ผู้เขียนและคณะบุคคลากรหอสมุดและคลังความรู้ฯ ได้รับจากการมาศึกษาดูงาน ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ในครั้งนี้ โดยผู้เขียนขอขอบพระคุณคุณกฤษณ์ ขาวบาง คุณวิชิต สุขกรม และทีมช่างทุกท่านที่ให้การต้อนรับคณะบุคคลากรหอสมุดและคลังความรู้ฯ เป็นอย่างดี รวมทั้งให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์ด้านการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar cell) แบบติดตั้งบนหลังคามา ณ โอกาสนี้
ขอบคุณภาพถ่าย: คุณมนตรี เล้าหะชัย