การประชุมระดมสมอง
“โครงการพัฒนาการจัดการข้อมูลผลการวิจัยใน
คลังสารสนเทศดิจิทัลให้เป็นมาตรฐานระดับชาติ”
วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีการจัดประชุมกลุ่มเพื่อระดมสมองใน “โครงการพัฒนาการจัดการข้อมูลผลการวิจัยในคลังสารสนเทศดิจิทัลให้เป็นมาตรฐานระดับชาติ” ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), 11 มหาวิทยาลัย และ 10 หน่วยงานวิจัยระดับชาติ เพื่อดำเนินการเตรียมพร้อมในการจัดการข้อมูลวิจัยในคลังสารสนเทศวิจัยให้เป็นมาตรฐานสากล โดยการประชุมกลุ่มครั้งนี้ดำเนินการมาถึง Step 3 เพื่อสรุปผลการสัมภาษณ์และประเมินตนเองในคลังสารสารเทศดิจิทัลของ 11 มหาวิทยาลัย และ 10 หน่วยงานวิจัยระดับชาติ
โดยการเข้าร่วมประชุมกลุ่มครั้งนี้ คุณสาวิตรี บุญปาลิต หัวหน้างานเผยแพร่ผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัย, คุณชญานิษฐ์ นิยม บรรณารักษ์ และ คุณวนาพล แช่มสุขี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ เป็นตัวแทนจากหอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดยช่วงแรกได้รับการต้อบรับจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมสัมมนา และชี้แจงถึงที่มาและความสำคัญของการจัดการข้อมูลผลการวิจัยในคลังสารสนเทศดิจิทัล เพื่อเป็นมาตรฐานของประเทศ และ รศ.ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นผู้ดำเนินการประชุมครั้งนี้
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
รศ.ดร.น้ำทิพย์ วิภาวิน
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โดยการประชุมระดมสมองครั้งนี้ ได้เริ่มต้นด้วยการรายงานผลการดำเนินงานในคลังสารสนเทศดิจิทัลของ 3 มหาวิทยาลัยตัวอย่าง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- กระบวนการจัดการข้อมูลวิทยานิพนธ์ตามมาตรฐาน : กรณีศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย รศ. ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แนะนำให้ผู้เข้าฟังรู้จักถึงการทำงานของ “ระบบการเขียนวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์” หรือ CU E-Thesis (คู่มือตามลิ้งค์) ซึ่งเป็นระบบที่เอื้ออำนวยให้นิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สามารถจัดส่งวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น โดยมีรูปแบบวิทยานิพนธ์หรือ Format ที่สำเร็จรูปพร้อมใช้งาน อีกทั้งยังลดความยุ่งยากในการจัดการของบัณฑิตวิทยาลัย ซึ่งสามารถตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของวิทยานิพนธ์ระหว่างนิสิตและอาจารย์ที่ปรึกษาถึงแม้จะไม่ได้พบกันก็ตาม
รศ. ดร.อมร เพชรสม
ผู้อำนวยการ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้พัฒนา “ระบบอักขราวิสุทธิ์ (Akarawisut)” ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและป้องกันการลักลอกผลงานทางวิชาการ ซึ่งอักขราวิสุทธิ์ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกับการทำงานของระบบ Turn it in แต่แตกต่างกันที่อักขราวิสุทธิ์สามารถตรวจสอบผลงานวิชาการที่เป็นภาษาไทยได้ โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ วารสารทางวิชาการ และรายงานวิจัย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมไปถึงบทความจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์จากมหาวิทยาลัยที่ร่วมลงนามความร่วมมือฯ และฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ลดความคลาดเคลื่อนของภาษาในการตรวจสอบการลักลอบผลงานได้ รวมทั้งสามารถใช้ได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐกว่า 100 แห่ง ได้นำระบบนี้ไปใช้งานแล้วอีกด้วย
เมื่อนิสิตทำวิทยานิพนธ์เสร็จสิ้นเรียบร้อย ผลงานดังกล่าวจะถูกจัดเก็บในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล เข้าสู่ “คลังปัญญาจุฬาฯ เพื่อประเทศไทย (CUIR)” ในขณะที่วิทยานิพนธ์ที่ยังคงเป็นรูปแบบตัวเล่มและยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ CU E-Thesis จะถูกเปลี่ยนแปลงทรัพยากรเป็นรูปแบบดิจิทัล เช่น การสแกนจากสิ่งพิมพ์ แปลงไฟล์จากซีดี เป็นต้น ซึ่งการทำงานทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือระหว่างบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [หอสมุดกลาง] และ สำนักงานการทะเบียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้นิสิต คณาจารย์ รวมถึงผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด..
- คลังความรู้และฐานข้อมูลงานวิจัยด้านเกษตร : กรณีศึกษามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์
ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของคลังความรู้และฐานข้อมูลงานวิจัยด้านเกษตร สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการเกษตร มีคณาจารย์และบุคลากรที่มีผลิตผลงานด้านการเกษตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์สนเทศทางการเกษตรแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานความร่วมมือในเครือข่ายสารสนเทศเกษตรไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางรวบรวมองค์ความรู้ด้านการเกษตรของประเทศไทย
ในชื่อ “คลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร“ ทั้งในรูปแบบหนังสือ, E-Book, ผลงานวิจัย, การประชุมวิชาการ และอื่นๆในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล ซึ่งจัดหมวดของข้อมูลตามสาขาวิชาการด้านการเกษตร เพื่อง่ายต่อผู้ใช้งาน อีกทั้งยังพัฒนาระบบให้ผู้วิจัยสามารถเข้าใช้งานและเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลต่างๆได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ยังได้มีการรวบรวมฐานข้อมูลด้านการเกษตรที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูลควาย, ฐานข้อมูลงานวิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่าง, ฐานข้อมูลงานวิจัยอ้อย, ฐานข้อมูลหนังสือเกษตรไทย (ระบบห้องสมุดเปิดเผยรหัส KOHA), ฐานข้อมูลอรรถาภิธานศัพท์เกษตรไทย, ฐานข้อมูลเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ และฐานข้อมูลสารสนเทศทางอาหาร (http://www.lib.ku.ac.th/web/index.php/all-database/202-s-databases)
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนคลังความรู้ของประเทศ จำเป็นต้องชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของคลัง และมีการกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย หอสมุดของมหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ประสานงานทุกฝ่าย โดย ดร.อารีย์ ได้แนะนำให้ผู้เข้าฟังรู้จักกับมาตรฐานระดับสากลของคลังความรู้ดิจิทัลด้านการเกษตร ได้แก่
– Global Open Data for Agriculture and Nutrition หรือ GODAN
– Coherence in Information for Agricultural Research for Development หรือ CIARD
– Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO
ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ
ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การปฎิบัติตามมาตรฐานสากลเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรในการทำงานไป แต่มาตรฐานยังคงเหมือนเดิม…
- นวัตกรรมการจัดการข้อมูลผลการวิจัย : กรณีศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คุณปราชญ์ สงวนศักดิ์ จากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้พัฒนาระบบ ได้บอกเล่าเรื่องราวของการใช้นวัตกรรมเพื่อการจัดการข้อมูลผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อประโยชน์ในการนำไปวิเคราะห์ภาพรวมของผลงานวิชาการ นำไปสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับสากล
คุณปราชญ์ สงวนศักดิ์
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยเริ่มต้นจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัย ได้พัฒนานวัตกรรม โดยการใช้ข้อมูล API เพืิ่อดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลผลงานวิจัย และรวบรวมผลงานวิชาการที่ได้รับการเผยแพร่ในฐานข้อมูลสากลของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกแบบอัตโนมัติ และนำข้อมูลผลงานวิชาการเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เพื่อรายงานผลสมรรถนะของมหาวิทยาลัยในแต่ละด้าน พร้อมเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ โดยรายงานผลด้วยเทคนิค OLAP cube ที่นำข้อมูลมาจำลองในโครงสร้างลูกบาศก์ 3 มิติ ให้ผลการวิเคราะห์ที่สามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง เช่น มหาวิทยาลัย, จำนวนบทความที่ถูกตีพิมพ์, Subject Area, ปีพ.ศ., จำนวนการอ้างอิงผลงาน เป็นต้น
การทำงานของ OLAP cube
ที่มา : ปราชญ์ (2559)
เมื่อได้ข้อมูลผลการวิเคราะห์จาก Olap cube เรียบร้อย สามารถนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อหา SWOT Analysis ของมหาวิทยาลัย พิจารณาสภาพแวดล้อมและศักยภาพของมหาวิทยาลัย เพื่อการวางแผนการพัฒนาผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัย รวมทั้งยังสามารถรายงานผลตาม Author Report เป็นรายบุคคล เพื่อพิจารณาตามความเชี่ยวชาญในแต่ละ Subject Area ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้พัฒนาและจัดทำ CMUIR ที่รวบรวมผลงานทุกชนิดของบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มีในสำนักหอสมุด สามารถค้นหาหนังสือได้ด้วยเลข ISBN ซึ่ง CMUIR ถูกพัฒนา Agile Methodology เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นระบบได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย…
ช่วงต่อมา รศ.ดร.น้ำทิพย์ และคณะนักวิจัย ได้นำผู้เข้าร่วมประชุมเข้าสู่ ช่วงรายงานผลประเมินตนเองของคลังสารสนเทศดิจิทัล จากสถาบันการศึกษา 11 แห่ง และหน่วยงานวิจัยระดับชาติ 10 แห่ง เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลเบื้องต้นในกลุ่มสถาบันการศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่สถาบันการศึกษาใช้ DSpace เป็นระบบหลักในการทำงานของคลังสารสนเทศดิจิทัล มีผลงานรวมระหว่าง 200-43,000 ผลงาน โดยผลการประเมินตนเองของสถาบันการศึกษา พบว่า มีจุดแข็งที่สำคัญ คือ การจำกัดสิทธิ์การเข้าใช้คลังฯ สำหรับจุดอ่อนที่สำคัญ คือ การวางแผนและสงวนรักษาข้อมูล สำหรับข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มหน่วยงานวิจัยระดับชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หน่วยงานระดับชาติใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเองเป็นระบบหลักของคลังสารสนเทศดิจิทัล มีผลงานรวมระหว่าง 52-234,000 ผลงาน โดยผลการประเมินตนเองของหน่วยงานวิจัยระดับชาติ พบว่า มีจุดแข็งที่สำคัญ คือ มีการใช้เทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยของผลการประเมินตนเองของหน่วยงานวิจัยระดับชาติ มีค่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับสถาบันการศึกษา
คุณชาตรี วงษ์แก้ว
นักวิจัย
ในการระดมสมองครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อคิดเห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะสามารถพัฒนาการจัดการข้อมูลวิจัยได้ โดยเริ่มต้นทำให้การสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัลเป็นสิ่งที่สำคัญ มีการประเมินความพร้อมของหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีบุคลากรที่รับผิดชอบหน้าที่ส่วนนี้โดยตรง รวมทั้งการกำหนดกรอบนโยบายและการจัดการด้านลิขสิทธิ์การเผยแพร่ข้อมูลและผลการวิจัยที่ชัดเจน
เมื่อสามารถจัดการในส่วนต้นน้ำก่อนนำผลการวิจัยเข้าสู่คลังสารสนเทศดิจิทัลได้แล้ว รูปแบบของข้อมูลที่จะเข้าสู่คลังฯเป็นสิ่งที่สำคัญ มีระบบการทำงานที่เอื้อต่อการไหลของข้อมูลในระบบ ต้องมั่นใจได้ว่าเป็นข้อมูลวิจัยที่ถูกต้อง มีการจัดการเมตาดาตาที่มีรายละเอียดตรงตามมาตรฐาน ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ผ่านตัวบ่งชี้ถาวรของทรัพยากรเช่น DOI URI Handle เป็นต้น
และสุดท้าย มีการกำหนดการวางแผนจัดการรักษาข้อมูลวิจัยในแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงาน พร้อมทั้งกำหนดขั้นตอนการจัดการความเสี่ยงจะเกิดขึ้นกับข้อมูลวิจัย มีแนวปฎิบัติในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และมีผู้รับผิดชอบชัดเจน จะทำให้ประเทศไทยมีระบบการจัดการข้อมูลที่สมบูรณ์ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือของนักวิจัยเอง หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้เงินทุนสำหรับงานวิจัย และหอสมุดหรือแหล่งเผยแพร่ผลงานเช่นกัน
ผู้เขียน : ชญานิษฐ์ นิยม ตำแหน่ง บรรณารักษ์ งานเผยแพร่ผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัย ฝ่ายคลังความรู้ หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล